"เห็ดเยื่อไผ่" สุดยอดเห็ดมหัศจรรย์ วิจัยไทยพบ สรรพคุณที่เล่าวันเดียวไม่หมด
LIEKR:
วันนี้ไลค์เกอร์จะพาไปรู้จักกับเห็ดอีกหนึ่งชนิดที่หลายคนอาจไม่รู้จัก สำหรับ เห็ดเยื่อไผ่ หรือ เห็ดร่างแห ลักษณะเด่นของเห็ดชนิดนี้คือต้องเพาะเห็ดบนเยื่อไม้ไผ่ โดยนำเอาไม้ไผ่มาทำให้เปื่อยยุ่ย แล้วนำมากองเพื่อใช้เพาะเห็ด หรือพบเห็ดชนิดนี้ในป่าไผ่ ส่วนของหมวกเห็ดมีรูปร่างเหมือนกระโปรงหรือตะกร้าหรือสุ่ม ที่สานกันเป็นร่างแห
ล่าสุด ทางด้านผู้ใช้เฟสบุ๊ก อุดร สังข์วรรณะ ก็ได้โพสต์ภาพเห็ดเยื่อไผ่ในแลงไผ่ซางหม่น ที่กำลังสวยเลยทีเดียว เป็นยังไงนั้น ตามไปดูกันเลยครับ
ความสวยงามของเห็ดเยื่อไผ่ในแปลงไผ่ซางหม่น..ผลพลอยได้ที่ลงทุนครั้งเดียวเก็บด้กันยาวๆ..คนเก็บเห็ดและขูดวุ้นก็จะยิ้มหน้าบานหน่อย...งานต่อยอดเพิ่มรายได้กับแปลงไผ่ #เห็ดเยื่อไผ่สายพันธุ์จีน #คอลาเจนในธรรมชาติ
เห็ดเยื่อไผ่ (Dictyophora indusiata) มีประโยชน์ด้านอาหาร เห็ดเยื่อไผ่มีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง มีโปรตีน (Nx6.25) 15-18% มี กรดcอมิโนถึง 16 ชนิด จาก กรดอมิโนที่มีทั้งหมด 20 ชนิดที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ และกรดแอมิโน 16 ชนิดนี้ยังเป็นกรดแอมิโนที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ (essential amino acid) ถึง 7 ชนิด และมีไรโบฟลาวิน (riboflavin) หรือวิตามินบี 2 ค่อนข้างสูง จากการสกัดสารจากเห็ดร่างแหพบสารที่สำคัญ 2 ชนิด คือ พอลิแซ็กคาร์ไรด์ และ ไดโอไทโอโฟริน เอและบี ซึ่งเป็นสารที่พบยากมากในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ
เป็นเห็ดที่สวยงามเป็นอย่างมาก แถมยังเป็นเห็ดที่กินได้ มีประโยชน์ทางด้านอาหารอีกมากมาย
ดร.วรวิกัลยา เกียรติ์พงษ์ลาภ นักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า "ได้ทำการศึกษาองค์ประกอบและสารสำคัญของเห็ดเยื่อไผ่สายพันธุ์กระโปรงยาวสีขาว ซึ่งมีสรรพคุณมากมาย เช่น บำรุงร่างกาย บำรุงสมอง และลดความดัน เป็นต้น"
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ยังพบอีกว่า เห็ดเยื่อไผ่ชนิดนี้มีคุณค่าทางโภชนาการสูง
โปรตีนร้อยละ 20 ไขมันร้อยละ 4-5
คาร์โบไฮเดรตร้อยละ 40-50
กรดอะมิโนมากกว่า 14 ชนิด
และวิตามินอีกหลายชนิด ซึ่งเห็ดเยื่อไผ่นี้มีโปรตีนสูงกว่าเห็ดอื่นๆ เช่น เห็ดโคนมีโปรตีนร้อยละ 4.2 เห็ดฟางร้อยละ 3.4 เห็ดหอมสดร้อยละ 2.2 และเห็ดหูหนูร้อยละ 1.4 เป็นต้น ซึ่งเหมาะกับการนำมาบริโภคเป็นโปรตีนที่ทดแทนเนื้อสัตว์ได้ดังกล่าว
นอกจากคุณค่าทางโภชนาการ ในแต่ละส่วนของเห็ดเยื่อไผ่ยังมีสารสำคัญและฤทธิ์ทางชีวภาพที่แตกต่างกันไป โดยในส่วนปลอกหุ้มดอกและหมวกดอกจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) อยู่ในปริมาณสูง สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดกระบวนการออกซิเดชั่นได้หลายรูปแบบ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังได้อย่างหลากหลาย
ส่วนเมือกหุ้มดอกเห็ด มีลักษณะเป็นเจลเข้มข้นที่อุดมไปด้วยกรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) และอัลลันโทอิน (Allantoin) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดการระคายเคืองของผิว เพิ่มความชุ่มชื้นฟื้นฟูเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ และยังพบกรดกลูโคนิค (Gluconic Acid) ที่สามารถเร่งการผลัดเซลล์ผิวที่ชั้นผิวหนังกำพร้า จะเสริมการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ซึ่งทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น นุ่มนวล มีความยืดหยุ่นดี ลดริ้วรอยและช่วยเติมเต็มผิวที่หย่อนคล้อย
โดยสารอัลลันโทอินจากเห็ดเยื่อไผ่นี้เป็นสารชนิดเดียวกับที่พบในเมือกหอยทาก แต่จะมีความบริสุทธิ์และสามารถเก็บเกี่ยวได้ง่ายกว่า ส่วนลำต้นและกระโปรงนั้น อุดมไปด้วยสารพอลิแซคคาไรด์พวกเบต้ากลูแคน (β-glucan) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ทั้งกระตุ้นและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ยิ่งไปกว่านั้นในส่วนลำต้นนี้ยังพบสารดิกทิโอฟอรีน เอ และบี (Dictyophorines A and B) ซึ่งเป็นสารที่พบยากมากในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ มีคุณสมบัติในการลดการอักเสบ ยับยั้งมะเร็ง และ ยังเป็นสารที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาท และป้องกันโรคสมองเสื่อมนอกจากนั้นสปอร์เชื้อรา สีน้ำตาลเขียวขี้ม้า ที่มีกลิ่นค่อนข้างเหม็น ทีมวิจัย พบว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) อยู่ในปริมาณสูงและพบสารสำคัญที่สามารถนำไปทำยาโด๊ปได้
ที่มา : thaihitz, slri