จาก "ยามเฝ้าหมู่บ้าน" สู่ "นิติกร" ต้นทุนชีวิตไม่เท่าคนอื่น แต่ตั้งใจจนเรียนจบ ได้ทำตามฝัน

LIEKR:

"ชีวิตผมไม่กล้าฝันไกล.."จากยามประจำหมู่บ้านสู่ "นิติกรศาลฎีกา"

        เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าประทับใจและสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้โลกโซเชียลถึงกับต้องนำกลับมาแชร์ต่ออีกครั้งกันเลยทีเดียว 

        สำหรับเรื่องราวที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Awiruth Chanchai หรือ "นายอวิรุทธ์ ชาญชัยกิตติกร" ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลล้มละลายกลาง ที่ได้เล่าย้อนถึงชีวิตตั้งแต่วัยเด็กของลูกศิษย์นั่นคือ "นายอาณัติ มานพ" ซึ่งปัจจุบันเป็นเนติบัณฑิต และนิติกรศาลฎีกา 

 

Sponsored Ad

 

        ด้วยความชื่นชมว่า.. “ประทับใจลูกศิษย์ คนนี้มาก “ชีวิตนักสู้ กว่าจะจบเป็นบัณฑิตนิติศาสตร์ ปัจจุบันเป็นเนติบัณฑิต และนิติกรศาลฎีกา อีกก้าวเดียวก็ได้นั่งบัลลังก์แล้ว” เรื่องราวจากนี้ “อาณัติ มานพ” นิติศาสตรบัณฑิตรุ่น 40 เนติบัณฑิตสมัยที่ 69 เป็นผู้ถ่ายทอด ชีวิตผมพ่อกับแม่แยกทางกันตั้งแต่ยังแบเบาะ ตอนเด็ก ๆ แม่ทำงานก่อสร้าง พอหลังเลิกเรียนช่วงค่ำ ๆ ผมกับแม่จะไปเดินขายมะม่วงตามบาร์ที่พัทยา พอโตขึ้นหน่อยผมก็ไปทำงานร้านขายของส่งได้วันละ 50 บาท แต่ช่วงปิดเทอมแม่จะให้ไปบวชเณรภาคฤดูร้อนทุกปีเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและเรียนทางธรรมไปด้วย พอขึ้นมัธยมผมก็ไปทำงานเซเว่นหลังเลิกเรียน ได้ชั่วโมงละ 25 บาท หลังจากจบมัธยมปลายก็ไม่ได้แอดมิชชั่นเข้ามหาวิทยาลัยที่ไหนเลยเพราะค่าใช้จ่ายสูง จึงมาสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ไม่รู้จะเรียนคณะอะไรดี จึงตัดสินใจเลือกคณะนิติศาสตร์เพราะทำอาชีพได้หลากหลาย ระหว่างนั้นผมทำงานเป็นยาม เข้างาน 1 ทุ่ม เลิก 6โมงเช้า ระหว่างทำงานก็แอบเอาหนังสือไปอ่านด้วย ต้องแอบอ่านเพราะเจ้านายเป็นชาวต่าวชาติไม่ชอบให้ทำเรื่องส่วนตัวเวลางาน ผมไม่เคยได้เข้าเรียนเลย ปกติจะซื้อตำราจากสำนักพิมพ์มาอ่านเพราะราคาถูกกว่าชีทหน้ารามมาก ประหยัดค่าใช้จ่ายได้เยอะ เล่มนึงก็ประมาณ 50-70 บาท

 

Sponsored Ad

 

        ผมไม่ได้เรียนเพื่อจะสอบให้ผ่านเท่านั้น แต่อ่านเพื่อต้องการความรู้จริง ๆ ถ้าวันไหนมีสอบ พอเลิกงานผมก็รีบขึ้นรถโดยสารจากพัทยามารามฯ ทันที ระยะทาง 120 กิโลเมตร มาสายแค่ 5 นาทีก็ไม่ได้เข้าห้องสอบแล้ว เสียค่ารถฟรี ๆ วันนึงสามร้อยกว่าบาท เงินเดือนแค่ 7,500 บาทเอง 

 

Sponsored Ad

 

        ถ้าวันไหนมีสอบบ่ายจะเป็นวันที่ทรมานที่สุดเพราะต้องอดนอนข้ามวันข้ามคืน สมองล้ามาก ๆ พอสอบเสร็จก็ต้องรีบนั่งรถกลับมาทำงานต่อ ถ้ามาช้าก็โดนหักเงินเดือนอีก สุดท้ายผมโดนไล่ออกจากงานเพราะเอาหนังสือมาอ่าน ชาวต่างชาติเขาต้องการยามมืออาชีพที่รักษาความปลอดภัยไม่ใช่มานั่งอ่านหนังสือ ท้อมากครับเหนื่อยจนร้องไห้ 

        พยายามบอกตัวเองว่าโชคชะตากำลังพิสูจน์ตัวเราอยู่ “จะเป็นผู้นำที่ดีได้ ต้องเป็นผู้ตามที่ดีมาก่อน คือเรียนรู้จากจุดที่ต่ำที่สุดมาก่อน” เวลาท้อมองคนที่เขาลำบากกว่า ผมเห็นยายแก่ ๆ เดินคุ้ยถังขยะมาขายประทังชีวิต ชีวิตเขาลำบากกว่าเรามาก ผมเชื่อเรื่องบาปบุญเพราะบวชมาตั้งแต่เด็กใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาตลอด พยายามทำแต่กรรมดีเพื่อให้สุขภาพจิตดีขึ้นและต้องการหลุดพ้นจากความทุกข์ใจ

 

Sponsored Ad

 

        หลังจากโดนไล่ออกจากยามผมก็ไม่ได้ไปสอบที่รามฯอีกเลย 1 ปีเต็ม ๆ ที่ขาดสอบ หลังจากนั้นผมก็ไปทำงานอื่นอีกหลายที่ เช่น ผู้ช่วยทันตแพทย์ประจำโรงพยาบาล ผู้ช่วยฝ่ายบุคคล คนงานทั่วไปของเทศบาล จนกระทั่งผมเรียนจบในภาค 1/56 ทันทีที่ผมจบก็มุ่งสอบหางานนิติกรตามสถานที่ราชการต่าง ๆ เพราะมีวันหยุดเสาร์อาทิตย์จะได้มีเวลาอ่านหนังสือมากขึ้น ผมเคยทำงานเป็นนิติกร โครงการจัดทำแบบกฎหมายและวิเคราะห์แบบกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอบคุณมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ให้โอกาสทางการศึกษาแก่คนที่ไม่มีโอกาส เพียงหน่วยกิตละ 25 บาท สามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ เป็นดังคำว่า “เปลวเทียวให้แสง รามคำแหงให้ทาง” จริง ๆ

 

Sponsored Ad

 

        หลังจากนั้น ผมไปเป็นทหารเกณฑ์ครับ ความรู้สึกตอนนั้น ใจหายครับ ที่ต้องจากครอบครัวไปอยู่ที่อื่น ช่วงฝึกตามหลักสูตรต้องตัดขาดจากสังคม ญาติไปเยี่ยมก็ไม่ได้ 

 

Sponsored Ad

 

        บางคืนนอนน้ำตาไหลคิดถึงบ้าน หนังสือไม่ได้แตะเลย อยากอ่านใจจะขาด ทำได้แค่แอบพกตัวบทเล่มเล็ก ๆ ไว้ที่ขากางเกงชุดฝึกลายพราง จะหยิบขึ้นมาท่องตอนครูฝึกปล่อยพัก บางครั้งใช้วิธีทบทวนตัวบทโดยการใช้ก้อนหินเขี่ยเขียนพื้นดิน และจิตนาการตามไปด้วย 

        บางคืนเข้าเวรดึก ๆ ก็เอาตัวบทไปยืนท่องด้วย ช่วงเวลาที่อยู่ในค่ายทหารนั้น ผมเหนื่อยมาก ๆ ผอมซูบ นอนน้อยมาก พอฝึกครบสองเดือน ก็จะแยกย้าย ขึ้นไปทำงานที่กองร้อย การฝึกก็เบาลง มีวันลาพักกลับบ้านได้มากขึ้น ผมก็จะใช้วันลาพักปล่อยกลับบ้านไปทำอาชีพเสริม เช่น ขี่มอเตอร์ไซค์ขายข้าวเม่าสด หรือช่วยญาติขายไก่ย่างส้มตำ เป็นต้น 

Sponsored Ad

        พอให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเพราะเงินเดือนทหารเกณฑ์น้อยมาก ส่วนเวลาอ่านหนังสือจะใช้เวลาช่วงค่ำ ๆ ไม่เคยได้อ่านเต็มวัน เพราะในแต่ละวันผมมีเวลาอ่านหนังสือน้อยมาก ไม่เคยอ่านถึงสองรอบ บางวิชาอ่านไม่จบเล่มด้วยซ้ำ ไม่เคยฝึกเขียนข้อสอบเก่าเลย และไม่เคยจดโน้ตย่อ ประมวลฯผมมีไว้ท่องเท่านั้น 

        นี่คือจุดพร่องที่ผมกำลังแก้ไขปรับปรุงอยู่ ผมคิดแค่ว่า เราอาจจะไม่เก่งเหมือนคนอื่น แต่เราไม่ได้แข่งกับใคร เราแข่งกับตัวเอง ขอแค่ในแต่ละวันเราพัฒนาตัวเอง และไม่เดินถอยหลังก็พอ โดยเปรียบเทียบตัวเองในเมื่อวาน กับตัวเองในวันนี้เสมอ ว่าในแต่ละวันเรามีความรู้อะไรเพิ่มขึ้นมาบ้าง เมื่อถึงช่วงใกล้สอบเนติฯ ก็ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาให้ลามาสอบได้ จนกระทั่งสอบผ่าน และจบเป็นเนติบัณฑิตสมัยที่ 69 อาณัติ มานพ นิติศาสตร์บัณฑิต รุ่น 40 เนติบัณฑิต สมัยที่ 69″

        อย่างไรก็ตาม หลังจากนายอวิรุทธ์ ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพถ่ายร่วมกับนายอาณัติ ได้มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็น ต่างชื่นชมและยกย่องให้กับชายหนุ่มในการสู้ชีวิต แม้จะมีเหนื่อยบ้างแต่ก็ไม่เคยท้อ ยังเดินหน้าสู้ต่อ ถือเป็นบทเรียนและประสบการณ์ที่หลายคนสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตจริงได้ อีกทั้งยังร่วมเป็นกำลังใจให้อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก เฟซบุ๊ก Anut ManopAwiruth Chanchai

บทความที่คุณอาจสนใจ